คุณนารีรัตน์ พันธุ์มณี ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลก เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.09 องศาเซลเซียส ในช่วง 2011-2020 เมื่อเที่ยบกับปี 1850-1900 โดยมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยตัวหลักๆมาจากมีเทน 156% คาร์บอนไดออกไซด์ 47.3% และไนตรัสออกไซด์ 23%
สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทย (ปี 2562) กว่าร้อยละ 70 มาจากภาคพลังงาน ถัดมา ร้อยละ15 มาจากภาคการเกษตร ร้อยละ 10 มาจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม และร้อยละ 4.59 มาจากของเสีย โดยประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) สุทธิ 372,716.86 GgCO2eq (คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) ขณะที่ภาคป่าไม้ดูดกลับได้ 91,988.52 (GgCO2eq) และคาดว่าระดับการปล่อยจะแตะระดับสูงสุดในปี 2025
ภาคการเกษตรเป็นหนึ่งภาคที่จะมองข้ามไปไม่ได้ กิจกรรมการปลูกข้าวปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 50.58% เนื่องจากกระบวนการทำนาที่ขังน้ำไว้ก่อให้เกิดก๊าซมีเทนปริมาณมาก หากเราสามารถลดจำนวนนี้จุดนี้ไปได้ จะช่วยให้ก๊าซมีเทนลดลงกว่าครึ่ง จึงต้องปรับวิธีการทำนาแบบใหม่ให้เป็นรูปแบบเปียกสลับแห้ง รวมถึงปรับ Mindset เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทน ตัวการหลักที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
หากมองภาพรวมในบริบทของประเทศแล้ว ไทยยังเป็นตลาดสมัครใจ ร่วมด้วยช่วยกันลดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประเทศ ยังไม่มีการบังคับ เพราะหากบังคับแล้วในแต่ละภาคส่วนจะถูกกำหนดเป้า แล้วบังคับให้ลด ถ้าลดไม่ได้จะมีบทลงโทษ ทั้งนี้ ในอนาคตอาจเป็นตลาดภาคบังคับได้ แต่แต่ละสาขาสามารถนำตัวเลขลดก๊าซเรือนกระจกมาช่วยกันได้เพื่อให้เป็นตัวเลขเป้าหมายรวมของประเทศ
ขณะที่ดร.พฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ ผู้อำนวยการสำนักรับรองคาร์บอนเครดิต ได้กล่าวถึงกลไกคาร์บอนเครดิต และตลาดคาร์บอนไว้ว่า ประเทศไทยเรามีโปรแกรม T-VER ซึ่งอบก.ได้พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 2014 โดยเป็นกลไกคาร์บอนเครดิตในรูปแบบสมัครใจเพื่อเป็นแรงจูงใจในการลดก๊าซเรือนกระจก
ในส่วนของโครงการ T-VER สามารถตรวจวัดการลดก๊าซเรือนกระจกได้จริงจากกิจกรรมในประเทศไทย ไม่มีการนับซ้ำและก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม โดยการประเมินคาร์บอนเครดิตจะวัดจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สามารถลดหรือกักเก็บได้จากการดำเนินงานภายใต้โครงการ และได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
โครงการ T-VER สามารถนำมาใช้ลดกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรได้โดยลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนที่ก่อให้เกิดไนตรัสออกไซด์ ปรับเป็นการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักแทน รวมถึงปรับปรุงการจัดการน้ำ เช่น ลดระยะเวลาน้ำขัง การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง เป็นต้น นอกจากนี้สำหรับกิจกรรมกักเก็บก๊าซเรือนกระจก T-VER จะช่วยให้สามารถกักเก็บคาร์บอนในดินได้ เช่น ลดการไถพรวน ปลูกพืชหมุนเวียน ใส่วัสดุอินทรีย์ และกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพ
สำหรับภาคต่างๆที่สามารถเข้าร่วมกับ T-VER ได้ จะมีตั้งแต่ภาคพลังงานหมุนเวียน ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง ภาคจัดการของเสีย ภาคการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ภาคเกษตรและป่าไม้ และ CCUS การดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ทั้งนี้ ข้อมูลการซื้อ-ขาย คาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนปีงบประมาณ 2566 มีปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ 2,064,915 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 154,774,826 บาท ซึ่งเฉลี่ยราคาอยู่ที่ 74.95 บาทต่อตัน (ราคาขึ้นอยู่กับการตกลงราคาระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย)
ส่วนคุณ David Rockwood ผู้ร่วมก่อตั้ง Spiro Carbon องค์กรที่ดำเนินการเรื่องคาร์บอนเครดิตให้กับชาวนาและเกษตรกร ระบุว่า ด้วยเทคโนโลยีของ Spiro Carbon ทำให้เราได้มีโอกาสที่จะวิเคราะห์และชักชวนให้ชาวนาชาวไร่เปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกมาเป็นแบบเปียกสลับแห้งซึ่งเพียงแต่ช่วยลดก๊าซมีเทนได้เท่านั้น แต่ยังช่วยลดปริมาณการใช้น้ำได้ถึง 25-40% ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง 50% และลดการใช้สารเคมีได้ถึง 70-100%
ทาง Spiro Carbon ยังมีแอปพลิเคชันทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งใช้ดาวเทียมในการจับภาพวิเคราะห์ว่าชาวนาผู้เข้าร่วมโครงการดำเนินงานจริงหรือไม่ ทำวันไหน ปริมาณเท่าไหร่ รวมถึงชาวนายังสามารถถ่ายภาพท่อวัดน้ำเมื่อทำนาแบบเปียก และเมื่อนาแห้งก่อนเติมน้ำก่อนส่งผ่านแอปฯเพื่อเป็นการยืนยันซ้ำได้ ซึ่งจะเป็นการการันตีให้กับผู้ซื้อคาร์บอนเครดิต
อ้างอิง : https://www.tgo.or.th/2023/index.php/th/post/%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%95-859