รับมือโลกเดือด รัฐ-เอกชน ผนึกกำลังเตรียมระดมสมอง ในเวทีประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย : Thailand Climate Action Conference หรือ TCAC 2023 ประจำปี 2566
ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลก ประเทศไทยในฐานะที่ร่วมเป็นรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ ให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเกียวโตและความตกลงปารีส พร้อมทั้งประกาศความมุ่งมั่น ที่จะมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทุกชนิด สุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero GHG Emission ในปี ค.ศ. 2065 บนเงื่อนไขว่า ไทยต้องได้รับการสนับสนุน ด้านเทคโนโลยี เงินทุน หรือ Capacity Building จากประเทศพัฒนาแล้ว
จึงจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ทั้งความร่วมมือ และ สนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายและแผนที่ได้วางไว้จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยหน่วยงานในสังกัด อาทิ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) จึงจำเป็นต้องจัดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference) หรือ TCAC 2023 เพื่อเป็นเวทีแสดงพลังการขับเคลื่อนการดำเนินงานการต่อสู้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายในประเทศ สำหรับทุกภาคส่วน ให้บรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่กำหนดขึ้น
ปีนี้ทส. เล็งเห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ จึงเชิญเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย หรือ Thailand Carbon Neutral Network (TCNN) เข้าร่วมเป็นภาคีร่วมจัดงานครั้งนี้ด้วย
การประชุม TCAC 2023 จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ถึงเหตุผล และ ความสำคัญของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสแบ่งปันประสบการณ์ การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น และ ระดับองค์กร
นอกจากนี้การประชุม TCAC 2023 ยังเป็นเวทีนำเสนอตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดี (Success Story-teller) จากภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โดดเด่น ทั้งภาครัฐส่วนกลางและระดับพื้นที่ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงการนำเสนอแนวคิดของเยาวชนในฐานะคนรุ่นใหม่ โดยจะให้ความสำคัญกับ
1) ความสมดุลระหว่างการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
2) การขับเคลื่อนการดำเนินงานรายสาขาและระดับพื้นที่ (Action on Ground) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน
3) การส่งเสริมด้านการเงินสีเขียวและการลงทุน (Green Finance and Investment)
ผลสำเร็จของการประชุม TCAC 2023 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-7 ตุลาคม 2566 จะนำไปรายงานในช่วงสมัยประชุมสมัชชารัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 28 (COP28) ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะผลักดันประเด็นการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และ การยกระดับเศรษฐกิจไปสู่การค้าการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ (Climate’s capital) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดทั้งระบบเศรษฐกิจ
การประชุมครั้งนี้จะมีผู้เข้าร่วมการประชุม 1,500 – 2,000 คน ทั้งระดับรัฐมนตรีจากนานาประเทศ ระดับปลัดกระทรวง คณะทูตานุทูต ผู้ว่าราชการจังหวัด ภาคีความร่วมมือภาคเอกชน ผู้แทนสถาบันการศึกษา นักเรียน-นักศึกษา ประชาชน และ สื่อมวลชน สส. สว. ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ ผู้แทนหน่วยงานภาคธนาคาร-การเงิน รวมทั้งผู้แทนองค์กรอิสระ และ องค์กรภาคประชาสังคม
อ้างอิง : https://www.tgo.or.th/2023/index.php/th/post/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94-%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1-thailand-climate-action-conference-tcac-2023-890